- 1 มิถุนายน 2019
- บริษัทประกันภัย, ประกันภาคสมัครใจ, ประกันวินาศภัย, ประกันออนไลน์
- 147 Views
รถเข้าอู่ จากการถูกชน จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง
ใครก็คงไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ถึงแม้เราจะระมัดระวัง เพียงใด แต่ไม่แคล้วถูกจูบบั้นท้ายจนได้ แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไง ถ้าเป็นแผลเล็กน้อย ก็ค่อยว่ากัน แต่ถ้าเป็นแผลใหญ่ เก็บไว้นาน ก็จะมีปัญหา ยังไงก็ต้องเข้าอู่ซ่อม และแล้วถึงวันที่จะต้องนำรถเข้าไปอู่ เพื่อเคลมประกันรถจากรอยแผลจารึกที่ฝากไว้ในวันเกิดเหตุ ประกันบอกมาว่าพี่ต้องทิ้งรถไว้ น่าจะ 2 อาทิตย์ ค่าใช้จ่ายตกราวๆ **,*** บาท แล้วแต่ตัวเลขใครใส่เอาเอง ไอ้เรื่องค่าใช้จ่ายเราไม่ได้ห่วงอยู่แล้ว เพราะทำประกันชั้น 1 แอบอวด แต่ที่ต้องมีปัญหาตามมาก็ไอ้เรื่องที่ไม่มีรถใช้ระหว่างรอซ่อม จะทำไง ถ้าต้องมานั่งรถเมล์ก็หลายต่อมาก ทุกวันนี้ต้องขึ้นทางด่วนมาทำงานถึงจะทัน ถ้าจะให้มาทันต้องออกตี 5 แล้วถ้าจะเรียกแท๊กซี่ น่าจะ 300-400 บาท รถเช้าๆ ก็เรียกยาก ลำบากชีวิต แล้วต้องเสียงตังค์ กลับมาถามประกันว่าเราจะเรียกร้องค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้หรือเปล่า ???
ขอตอบไว้เลยค่ะว่าได้ ถ้าเกิดอุบัติเหตุแล้วเราเป็นฝ่ายถูกหากต้องนำรถเข้าซ่อม เราสามารถเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมจากประกันฝ่ายตรงข้าม เพื่อเป็นค่าเดินทางตามวันที่เอารถเข้าซ่อมได้
แต่การเรียกได้เท่าไร ก็ต้องประเมินจากราคาที่เป็นเหตุเป็นผล เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายจริงๆ ไม่ใช่คุณเรียกร้องโอเวอร์มาก เรียกแท๊กซีหรือเรียก Grabcar plus เรียกนั่งรถเบนซ์ First Class มาทำงาน ด้วยความฝันอยากมีคนขับรถมานานแล้ว ได้โอกาส จัดไป ค่ะจัดไปค่ะ แต่จ่ายเองน๊ะค่ะ เพราะการประเมินค่าใช้จ่ายจะคิดให้ใกล้เคียงกับการใช้จริงที่สุด
เราเรียกค่าที่เรียกร้องจากคู่กรณีว่า ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ คือ
เงินชดเชยที่เราสามารถเรียกร้องได้จากบริษัทประกันรถของคู่กรณี หรือจากคู่กรณีที่เราประสบเหตุโดยที่เราเป็นฝ่ายถูก เช่น ค่าเดินทางที่เราต้องนั่งแท๊กซี่ไปทำงานระหว่างซ่อมรถตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ด้วยการยื่นเรื่องพร้อมเอกสารไปยังบริษัทประกันภัยเพื่อรับค่าเดินทางระหว่างซ่อมรถ เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ที่เราควรจะได้รับในระหว่างเอารถเข้าซ่อมค่ะ
ตอนนี้ทางคปภ ได้ปรับกฏเกณฑ์การเรียกร้องตรงนี้ให้มีมาตรฐานมากขึ้น และบังคับใช้จริงจัง เนื่องจากปัญหาการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ มียอดร้องเรียนมากเป็นอันดับ 1 เพราะบริษัทประกันไม่ยอมจ่ายค่าขาดประโยชน์ ประชาชนขาดความรู้ หรือมีการจ่ายในอัตราที่ต่ำ จึงเป็นสาเหตุให้ต้องมีการปรับเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า คปภ. ได้ข้อสรุปการปรับปรุงความคุ้มครองของค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ให้แก่เจ้าของรถยนต์ที่ทำประกันและอยู่ระหว่างนำรถไปเคลมซ่อมแล้ว โดยกำหนดจ่ายเป็นสามกลุ่ม
- รถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
- รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
- รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง อัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถนี้จะใช้ได้เมื่อเราเป็นฝ่ายถูกเมื่อเกิออุบัติเหตุนะค่ะ ไม่ว่าคุณจะทำประกันรถภาคสมัครใจชั้นใดก็ตาม เมื่อเกิดเหตุขึ้นโดยที่เราเป็นฝ่ายถูกและเราต้องเอารถเข้าซ่อมทำให้ในระหว่างนั้นเราไม่มีรถใช้งาน เราสามารถเรียกเงินชดเชยจากบริษัทประกันรถของรถคู่กรณีหรือจากคู่กรณีที่เราประสบเหตุได้ เช่น ค่าเดินทางระหว่างซ่อมรถที่เราต้องนั่งแท๊กซี่ไปทำงานโดยประมาณตามความเป็นจริงพร้อมมีเอกสารแนบ
เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการขอ “ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ”
1. ใบเสนอรายการความเสียหายของรถยนต์
ที่พร้อมสำเนาเอกสารไว้ด้วย ซึ่งต้องระบุวันที่เราติดต่อซ่อมรถกับอู่ซ่อมรถหรือศูนย์บริการให้ชัดเจน
2. ใบเคลม (ใบรับรองความเสียหายต่อทรัพย์สิน)
เอกสารที่เจ้าหน้าที่เคลมประกันออกให้เราเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะระบุไว้ชัดเจนว่ารถเสียหายตรงไหนบ้าง และเราเป็นฝ่ายถูก
3. สำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
หน้าแรกกรมธรรม์ประกันภัยของเรา เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องด้วย
4. สำเนาทะเบียนรถยนต์
สมุดทะเบียนรถยนต์เล่มสีน้ำเงินที่ระบุวันจดทะเบียน และกรรมสิทธิ์ ชื่อเจ้าของรถยนต์ ซึ่งควรต้องเป็นชื่อเราที่เป็นคนเรียกร้อง
5. สำเนาใบขับขี่รถยนต์
6. ใบรับรถ หรือหนังสือส่งมอบรถเสร็จ
7. รูปถ่ายตอนซ่อมรถ
ส่วนนี้ขอได้จากอู่รถยนต์ที่เราเอารถเข้าซ่อมซึ่งต้องถ่ายรูปไว้ทุกขั้นตอน หรือถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่เพิ่มความน่าเชื่อถือ
8. หนังสือเรียกร้องสินไหมค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถ
ซึ่งก็คือจดหมายแจ้งเรื่อง พื่อแจ้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดพร้อมระบุการเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมรถให้ชัดเจน
9. บุ๊กแบงก์
หรือสมุดบัญชีธนาคารของเราเองที่ต้องการให้บริษัทประกันโอนเงินเข้าบัญชี ส่วนมากแล้วถ้าบริษัทประกันได้รับเอกสารครบถ้วนแล้วจะทำการพิจารณาให้เลย อย่าลืมถามด้วยว่าใช้เวลาดำเนินการประมาณกี่วัน กี่อาทิตย์ เพื่อที่เราจะได้ตามเรื่องได้อย่างต่อเนื่อง
รายละเอียดเพิ่มเติม
1. ขอทราบชื่อ เบอร์ติดต่อ จดชื่อผู้รับเรื่องของเราไว้ด้วย จะได้ตามเรื่องถูกคน
2.การเตรียมเอกสารให้พร้อม เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปติดต่อหลายๆ รอบจนทำให้เราเกิดความหงุดหงิด หรือเกิดอารมณ์ขี้เกียจจนสุดท้ายก็ล้มเลิกไปในที่สุด และทำสำเนาเรื่องทั้งหมดเก็บไว้ที่ตัวเราด้วยนะค่ะ เผื่อการโทรตามเรื่องและต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมเราจะได้ทำได้ทันที แต่ทำใจไว้ด้วย เงินชดเชยที่ได้รับนั้นอาจไม่ใช่ตามที่เราแจ้งเรื่องไปทั้งหมดอาจจะได้ซัก 70-80% ของที่เราแจ้งไป เอกสารเยอะ แต่ต้องเตรียม เพื่อที่เราจะได้ค่าใช้จ่ายที่เราเสียไปคืน และเป็นสิทธิของเราที่พึงได้ค่ะ แต่ถ้าเห็นว่าเล็กๆ น้อยๆ ก็ปล่อยผ่านไปก็ได้ค่ะ